วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2558


"หนองคาย-นรข.เขตหนองคาย (สถานีเรือหนองคาย) ดำเนินการแจ้งเรือดูดทรายและหินจาก สปป.ลาว ให้หยุดเข้ามาดูดทรายฝั่งประเทศไทย หลังประชาชนในพื้นที่ ต.ปะโค ต.เวียงคุก อ.เมืองหนองคาย ได้รับความเดือดร้อน
วันที่ 4 ต.ค. 2558 เวลา 10.00 น.น.อ.สุชาติ อุดมนาค ผบ.นรข.เขตหนองคาย สั่งการให้ น.ท.พงศกร อิฐสมบัติ ผบ.หมู่เรือที่ 4 และรักษาราชการหัวหน้าสถานีเรือหนองคาย พร้อมด้วยกำลังพล 6 นาย เรือจู่โจมลำน้ำจำนวน 2 ลำ ออกปฏิบัติหน้าที่ค้นหาเรือดูดทรายของ สปป.ลาว ที่เข้ามาดูทรายและหินบริเวณชายฝั่งแม่น้ำโขงใกล้กับกลุ่มผู้เลี้ยงกระชังปลาพื้นที่ ต.เวียงคุก และ ต.ปะโค อ.เมืองหนองคาย
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจพบเรือดูดทรายและหินจาก สปป.ลาว จำนวน 2 ลำ ลอยลำอยู่ในน่านน้ำฝั่งประเทศไทย บริเวณ ต.ปะโค อ.เมืองหนองคาย จึงได้นำเดินการนำเรือเข้าไปแจ้งและตักเตือนว่ากำลังดำเนินการดูดทรายและหินในน่านน้ำของราชอาณาจักรไทยและให้นำเรือดูดทรายออกไปจากน่านน้ำ โดยเรือดูดทรายและหิน ของ สปป.ลาว ได้หยุดดูดและถอนสมอออกไปจากน่านน้ำของราชอาณาจักรไทย ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
น.ท.พงศกร อิฐสมบัติ ผบ.หมู่เรือที่ 4 และรักษาราชการหัวหน้าสถานีเรือหนองคาย กล่าวว่าหลังจาก น.อ.สุชาติ อุดมนาค ผบ.นรข.เขตหนองคาย ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ ต.ปะโค และ ต.เวียงคุก อ.เมืองหนองคาย ว่ามีเรือดูดหินและทราย จาก สปป.ลาว นำเรือมาดูดหินและทราย บริเวณฝั่งประเทศไทย สร้างปัญหาทั้งเสียง มลพิษ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติการค้นหาและตรวจพบเรือดูดหินและทรายจาก สปป.ลาว จึงได้ว่ากล่าวตักเตือนให้ออกไปจากบริเวณที่ทำการดูดหินและทราย
“โดยในปัจจุบันในพื้นที่หนองคาย กำลังประสบปัญหาเรื่องการลักลอบดูดหินทรายตามลำแม่น้ำโขง ซึ่งผู้ประกอบการฉวยโอกาสช่วงน้ำมาก นำเรือเข้ามาดูดหินทรายขึ้นมาขาย แต่ไม่มีการรับอนุญาตตามกฎหมาย เพราะการดูดหินทรายในเขตแม่น้ำโขง ปกติต้องมีการขออนุญาตจากหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง และจะต้องดำเนินการตามแนวเขตที่ให้อนุญาต ที่สำคัญ ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องของผลกระทบของการสูญเสียแนวเขตระหว่างชายแดน เนื่องจากปัจจุบันในการแบ่งเขตชายแดนไทยลาว ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ จะต้องดูจากร่องน้ำลึกเป็นหลัก แต่เมื่อมีการลักลอบดูดหินทรายปริมาณมาก จะส่งผลให้ร่องน้ำลึกตกมาใกล้ฝั่งไทย ทำให้มีการเสียดินแดน เกาะแก่งกลางแม่น้ำโขง ที่เชื่อมกับชายแดนไทย” น.ท.พงศกร อิฐสมบัติ ผบ.หมู่เรือที่ 4 และรักษาราชการหัวหน้าสถานีเรือหนองคาย กล่าว
สำหรับปัญหาเรือดูดหินและทรายจาก สปป.ลาว มักก่อให้เกิดปัญหาบ่อยครั้ง ถึงแม้จะมีการตกลงกันระหว่างทั้งสองฝ่าย เมื่อปี 2551 ว่าห้ามดูดหินทรายในห่วงเดือน ก.ค. ถึง ต.ค. เนื่องจากเป็นฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะส่งผลให้ตลิ่งเกิดการพังเสียหาย แต่ผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทุนจากประเทศไทยที่ไปสัมปทานจาก สปป.ลาว มักไม่ค่อยปฏิบัติตามข้อตกลง สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและความมั่นคงของประเทศชาติ
ชาวบ้านรายหนึ่งให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ที่เรือทั้ง 2 ลำ เข้ามาดูดหินทรายนั้น เป็นพื้นที่ของไทยและมีการลักลอบเข้ามาดูดเป็นประจำ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีมาตรการออกมา จะส่งผลให้เกิดการพังของตลิ่งได้"
(http://nongkhainewsonline.blogspot.com)






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น